ข่าว

กลับไปหน้าข่าว

กฟผ. โชว์วิจัยใช้เถ้าลอย Free Lime สูง เพื่อปรับปรุง มอก. 2135 ในงานคอนกรีต

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 กองธุรกิจนวัตกรรมวัตถุพลอยได้ ฝ่ายจัดการธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน (อธพ.) จัดกิจกรรมบรรยายผลงานวิจัยการใช้เถ้าลอยที่มีปริมาณ Free Lime สูงในคอนกรีต เพื่อหาแนวทางการ ปรับปรุงมาตรฐานอุตสาหกรรมของเถ้าลอย มอก. 2135 โดยมีผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานจากผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมคอนกรีตและวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และผู้ประกอบการขนส่ง ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 70 คน กฟผ. ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้บรรยาย 2 ท่าน ดังนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมนึก ตั้งเติมสิริกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการก่อสร้างและบำรุงรักษาสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญโครงสร้างคอนกรีตและวัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์และคอนกรีต มาบรรยายในหัวข้อ “การใช้เถ้าลอยในงานคอนกรีต และปัญหาในอดีต-ปัจจุบัน” รองศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา แสงสร้อย อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการก่อสร้างและบำรุงรักษา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กรรมการร่าง มอก.เถ้าก้นเตาบดละเอียด มาเป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “การศึกษาสมบัติของคอนกรีตผสมเถ้าลอยที่มีปริมาณ CaO สูงมากและเถ้าลอยที่ปนเปื้อนแอมโมเนีย และการศึกษาหาปริมาณ Free Lime สูงสุดในเถ้าลอย และแนวทางการปรับปรุง มาตรฐานอุตสาหกรรมของเถ้าลอย (มอก. 2135)”

การจัดงานครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและผู้บริหารในกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างมาก เนื่องจากเถ้าลอยของโรงไฟฟ้าแม่เมาะถูกใช้เป็นวัสดุทดแทนปูนซีเมนต์ในคอนกรีตที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ใช้งานมากกว่า 20 ปี ทั้งนี้เพื่อรองรับคุณสมบัติเถ้าลอยของโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน กฟผ. จึงจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อให้ลูกค้าผู้ใช้เถ้าลอยโรงไฟฟ้าแม่เมาะของ กฟผ. มีความรู้ในการใช้เถ้าลอยเป็นวัสดุทดแทนซีเมนต์ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรมและเข้าใจแนวโน้มของคุณสมบัติเถ้าลอยฯในอนาคตเพื่อเตรียมปรับมาตรฐาน มอก.2135 ซึ่งต้องได้รับการยอมรับจากเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งผู้ผลิต ผู้นำไปใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมคอนกรีต ภาคขนส่ง อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านคอนกรีต หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายของประเทศด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นำวัสดุที่เป็นวัตถุพลอยได้จากโรงไฟฟ้าไปใช้เพื่อลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ลดการฝังกลบและรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังสามารถลดก๊าซเรือนกระจก CO2 จากการผลิตในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โดยการนำเถ้าลอยไปทดแทนไม่น้อยกว่าปีละ 600,000 ตัน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศและทำให้คอนกรีตมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของการบรรยาย ผู้เข้าร่วมประชุม ร่วมให้ความเห็นแนวทางการปรับปรุง มาตรฐานอุตสาหกรรมของเถ้าลอย (มอก. 2135) ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วม และความพร้อมสนับสนุนการใช้เถ้าลอยของ กฟผ. อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต


กลับไปหน้าข่าว