บทความ

กลับไปหน้าบทความ

Expert Electrify Squad 
เชี่ยวชาญด้านการทดสอบไฟฟ้า มุ่งพัฒนาอย่างมีระดับ

กองทดสอบไฟฟ้าแรงสูง หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า พร้อมให้บริการด้วยมาตรฐานระดับสากล และมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อยกระดับการบริการให้เป็นศูนย์กลางการทดสอบไฟฟ้าแรงสูงแบบครบวงจร


ระบบจำหน่ายและส่งไฟฟ้าแรงสูงเปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่ของพลังงานไฟฟ้า ที่คอยส่งกระแสไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ทั่วทุกประเทศ และความมั่นคงของทั้งสองระบบดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน เพื่อให้ระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ต่อผู้ปฏิบัติงานของ กฟผ. และประชาชนทั่วไป การตรวจสอบและดูแลอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานจึงเป็นหน้าที่สำคัญของกองทดสอบไฟฟ้าแรงสูง นำทีมโดยคุณรณชาติ เกตุจุมพล หัวหน้ากองทดสอบไฟฟ้าแรงสูง คุณศุภโชค สุทธาพานิช หัวหน้าแผนกสอบเทียบไฟฟ้าแรงสูง คุณสุทัศน์ สุขสกุลปัญญา หัวหน้าแผนกทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง คุณรุ่ง ถวายนิล หัวหน้าแผนกเทคโนโลยีไฟฟ้าแรงสูง และคุณธณวรรธณ์ ดีเบา หัวหน้าแผนกทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า ทั้ง 5 ท่าน จะพาไปทำความรู้จักกับบทบาทของหน่วยงานนี้ การให้บริการที่สร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า รวมถึงการยกระดับการให้บริการผ่านการลงนาม MOU กับ Korea Electrotechnology Research Institute (KERI) สถาบันวิจัยชั้นนำด้านเทคโนโลยีไฟฟ้าประเทศเกาหลีใต้


ผู้ควบคุมประสิทธิภาพของอุปกรณ์

ทุกขั้นตอนการดำเนินงานของกองทดสอบไฟฟ้าแรงสูงล้วนมีความเกี่ยวเนื่องตลอดวงจรชีวิตของอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงตั้งแต่เริ่มต้นผลิตจนหมดอายุการใช้งาน

“กองทดสอบไฟฟ้าแรงสูง เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ช่วยดูแลความมั่นคงของระบบจำหน่ายและระบบส่งไฟฟ้า โดยมีหน้าที่ทดสอบอุปกรณ์ที่ใช้ในสถานีไฟฟ้าแรงสูงหรือใช้กับสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐาน และที่สำคัญปลอดภัยในการใช้งาน ภายหลังจากการผลิตหรือหลังจากการซ่อมแซม ซึ่งถือเป็นกระบวนการรับประกันคุณภาพแบบหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีการทดสอบตลอดวงจรชีวิตของตัวอุปกรณ์ เริ่มตั้งแต่ซื้ออุปกรณ์มาจากผู้ผลิต ซึ่งผู้ผลิตจะต้องมีการทดสอบเพื่อตรวจสอบว่าการออกแบบเป็นตามดีไซน์ที่กำหนดไว้ไหม ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือเปล่า หลังจากทดสอบเสร็จขนย้ายมาที่หน้างานหรือที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง ก่อนจะติดตั้งก็ต้องทดสอบก่อนนำเข้าใช้งานในระบบ เพราะถ้าไม่ทดสอบแล้วเกิดมีปัญหาตอนติดตั้ง หรือตอนขนส่ง อาจทำให้เกิดความเสียหายตอนจ่ายไฟได้ พอใช้งานไปสักระยะอุปกรณ์จะมีการเสื่อมสภาพ เราก็ต้องดูว่าอุปกรณ์ยังพร้อมใช้งานหรือไม่ โดยมีการทดสอบตามวาระหรือตามมาตรฐานกำหนด หลังจากทดสอบเสร็จจะทำให้รู้ว่าสภาพยังใช้งานต่อได้ หรือจำเป็นต้องมีการซ่อมบำรุงรักษา สุดท้ายเมื่อเราใช้งานไปจนหมดอายุ การทดสอบเราจะบอกได้ว่าควรจะเลิกใช้ หรือควรซื้อตัวใหม่มาทดแทน เพราะฉะนั้นการทดสอบจะเข้าไปมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของตัวระบบครับ”


แก่นสำคัญคือความน่าเชื่อถือ 

บทบาทของ กฟผ. ในมิติของผู้ให้บริการด้านไฟฟ้าแรงสูงแก่ลูกค้าภายนอก บ่งบอกถึงศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนาน 

“ลูกค้ามองว่าเรามีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเราเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเราไม่ได้เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ จึงไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ซื้อหรือผู้ขาย เรามีความเป็นมืออาชีพในงานทดสอบด้านนี้ ทั้งขั้นตอนการทำงาน เครื่องมือที่ได้มาตรฐาน การรักษาความลับของลูกค้า รวมถึงบุคลากรทุกคนที่ดูแลเอาใจใส่ให้บริการลูกค้าเป็นอย่างดี หากลูกค้าต้องการชมขั้นตอนการทดสอบขั้นตอนไหน ทางเราก็อำนวยความสะดวกให้แล้วเรายังมีการให้คำแนะนำในกรณีที่ทดสอบไม่ผ่าน ว่าควรไปแก้ไขที่จุดไหน อย่างไร โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่ม ที่สำคัญเรามีศักยภาพเหนือกว่าหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในเรื่องของแล็บทดสอบไฟฟ้าแรงสูงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถทดสอบอุปกรณ์ได้สูงสุดถึงระดับแรงดัน 500 kV ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย มีค่าความละเอียดการวัดที่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีความเชี่ยวชาญจากการได้ทดสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ มามากมาย 

นอกจากนี้ เรายังได้รับความไว้วางใจจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้การรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ควบคุมคุณภาพห้องทดสอบและห้องสอบเทียบ อีกทั้งยังแต่งตั้งให้เราเป็นผู้ให้การรับรองผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ทางบริษัทผู้ผลิตเขาผลิตมาด้วยครับ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงจุดแข็งของ กฟผ. ที่โดดเด่นใน 3 เรื่องได้แก่ 

เรื่องที่ 1 บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์สูง จากการที่เราได้เจออุปกรณ์หลากหลายรูปแบบ เจอปัญหาต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นในระบบ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ให้บุคลากรของเรา 

เรื่องที่ 2 อุปกรณ์หรือเครื่องมือทดสอบที่ทันสมัย มีศักยภาพสูง 

เรื่องที่ 3 เนื่องจากเราเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทำให้ค่าใช้จ่ายไม่แพง ถ้าลูกค้าต้องส่งอุปกรณ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ อาจใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง การมาทดสอบที่เราจะใกล้และสะดวกกว่า


ยกระดับความเป็นเลิศสู่มาตรฐานสากล

เพื่อพัฒนาศักยภาพห้องทดสอบฯ ทาง กฟผ. จึงได้ร่วมลงนาม MOU กับสถาบันวิจัยชั้นนำด้านเทคโนโลยีไฟฟ้าประเทศเกาหลีใต้ (KERI) ซึ่งมีส่วนช่วยยกระดับการให้บริการของ กฟผ. ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล

“สำหรับเรื่องการทำ MOU ร่วมกับทาง KERI ถือเป็นการช่วยยกระดับการให้บริการลูกค้าภายในประเทศของ กฟผ. เนื่องจากในข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และ KERI ผ่านห้องปฏิบัติการเครือข่าย ISO/IEC 17025 และ 17065 เรามีการร่วมมือกันเพื่อการรับรองผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล เช่น IEC IEEE ดังนั้น ผู้ผลิตภายในประเทศสามารถขอใบรับรองจาก KERI ผ่าน กฟผ. โดยไม่ต้องส่งอุปกรณ์ไปยังประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของลูกค้าได้มากขึ้น ส่งผลให้มีลูกค้าเข้ามารับบริการเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ KERI เป็นองค์กรที่มีแนวคิดเชิงธุรกิจ ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ส่งผลให้การร่วมมือครั้งนี้ กฟผ. ได้ทั้งองค์ความรู้และแนวทางการดำเนินงานด้านธุรกิจด้วยครับ”


ปรับตัวเพื่อไปต่อ

จากการสร้างค่านิยม “SPEED” ของ กฟผ. ได้ให้ความหมายของ D อักษรตัวสุดท้าย คือ Digitalizationการขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมและดิจิทัล กองทดสอบไฟฟ้าแรงสูง พร้อมรับนโยบายดังกล่าวมาปรับใช้ในการทำงาน 

“ปัจจุบันทาง กฟผ. ได้มีการลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยี 3 ด้าน ได้แก่ คน เครื่องมือ และระบบงาน คนก็คือ วิศวกร และช่าง ที่เราส่งไปอบรมด้านเทคโนโลยีของอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงใหม่ ๆ ด้านเครื่องมือทดสอบเราก็ได้มีการทดแทนไปแล้วหลายตัว มีการซื้อเครื่องมือทดสอบที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ด้านระบบงานเราก็มีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้ลูกค้าสามารถขอใช้บริการ จากเดิมที่เป็นกระดาษ ตอนนี้ก็สามารถกรอกแบบฟอร์มออนไลน์เข้ามาได้ ส่วนการรายงานผลการทดสอบที่แต่เดิมต้องส่งกระดาษให้ลูกค้า ตอนนี้ก็สามารถไปดาวน์โหลดในแพลตฟอร์มได้ รวมถึงการสร้างระบบต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นและถูกต้องตามมาตรฐานด้วยครับ”


ก้าวต่อไปของกองทดสอบไฟฟ้าแรงสูง

กฟผ. มีเป้าหมายในการพัฒนาให้กองทดสอบไฟฟ้าแรงสูงเป็นศูนย์กลางการทดสอบไฟฟ้าแรงสูงแบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไฟฟ้าแรงสูงในประเทศต่อไป

“ในอนาคตเรามีโครงการที่จะขยายห้องปฏิบัติการทดสอบให้ใหญ่กว่านี้ประมาณ 2 เท่า เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และรองรับปริมาณความต้องการของผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงสินทรัพย์ในระบบส่งของ กฟผ. ที่มากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะขยายเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบด้านกำลังสูงทั้งเรื่องแรงดันไฟฟ้าสูงและกระแสไฟฟ้าสูง ซึ่งอันนี้อาจจะต้องอาศัยความร่วมมือ MOU ของ KERI ที่เขามีประสบการณ์มากกว่ามาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ครับ ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ทางเราก็กำลังศึกษาว่าการทดสอบหรือสอบเทียบที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาดต้องการอะไรบ้าง ทาง KERI เองก็ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ด้วย ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์ของโลกเทคโนโลยีในอนาคตครับ” 

กฟผ. มีเป้าหมายในการพัฒนาให้กองทดสอบไฟฟ้าแรงสูงเป็นศูนย์กลางการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าแรงสูงแบบครบวงจร เพื่อตอบรับความต้องการของผู้ใช้บริการและความท้าทายใหม่ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าแรงสูงในประเทศต่อไป

กลับไปหน้าบทความ