บทความ
04/12/2566
GREEN HORIZONS ไทย-เวียดนาม : ร่วมสร้างโลกแห่งพลังงานสีเขียว
เวียดนามให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนเป็นอย่างมาก โดยวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2050 เรามาทำความรู้จักกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและพลังงานของเวียดนามผ่านคำบอกเล่าของ คุณนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย เพื่อช่วยต่อยอดการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ
เวียดนาม ถือเป็นประเทศที่ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ทั้งจากปัจจัยด้านต้นทุนแรงงานและเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมพลังงานที่รัฐบาลเวียดนามมุ่งมั่นสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน คุณนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย ได้ร่วมบอกเล่าถึงภาพรวมด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมพลังงานของเวียดนาม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่นักลงทุนชาวไทยและการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว
เติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว
"เวียดนามมีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนเป็นอย่างมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่มีความท้าทายเชิงภูมิรัฐศาสตร์ มีความไม่แน่นอนหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้น เรายังไม่แน่ใจว่าภาวะเงินเฟ้อในฝั่งโลกตะวันตกจะยุติไหมจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ เมื่อดูภาพรวมแล้วเวียดนามยังโตได้ โดย 9 เดือนแรกของปีนี้ เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตอยู่ที่ 4.2% ดังนั้นผมคิดว่าเป็นตัวเลขที่ยอดเยี่ยม ตัวเลขที่น้อยประเทศจะทำได้ เวียดนามน่าจะเป็น Top 3 ในโลกตอนนี้
ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งหลาย เศรษฐกิจเวียดนามก็ยังมีความเป็นพลวัตอยู่ในตัว เขามีการวางเป้าหมายนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเป้าที่ทะเยอทะยานในเชิงบวก กล่าวคือ เวียดนามประสงค์เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีรายได้สูงภายในปี ค.ศ. 2045 และได้ประกาศเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเร็วกว่าไทย 15 ปีผมถึงมองว่าเป้าหมายของเขามีความทะเยอทะยานในเชิงบวกแต่เวลาเวียดนามตั้งเป้าหมายอะไรก็มักไม่ค่อยพลาดเป้ามากนักดังนั้น ผมคิดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของเวียดนามจะเป็นไปในทิศทางที่มั่นคง
อย่างไรก็ดี เวียดนามเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติและการส่งออกค่อนข้างสูง คล้ายกับไทยในสมัยก่อน ดังนั้นท่ามกลางความแปรปรวนของเศรษฐกิจโลก ตัวเลขที่สะท้อนการเติบโตของเวียดนาม ทั้งจาก IMF, World Bank และ OECD ก็คาดว่า ปี 2566 นี้เวียดนามจะโตอยู่ที่ราว 4.7% แม้จะลดลงจากเป้าเดิมที่วางไว้ที่ 5.5% แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมากถ้าเทียบกับประเทศอื่น สำหรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามถือว่าไม่ดีเท่ากับปีที่แล้ว เพราะว่าคู่ค้าของเวียดนาม หรือลูกค้าของเวียดนาม และลูกค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป ทุกประเทศล้วนประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อลูกค้าของเวียดนามประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ การส่งออกหรือยอดการสั่งซื้อต่าง ๆ ของเวียดนามก็ได้รับผลกระทบหมด และจะลดลงไปอย่างน้อย ๆ 1 ใน 3 ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนสิ่งที่เวียดนามผลิตเพื่อส่งออก เพราะฉะนั้นตัวเลขการส่งออกของเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ จึงลดลงค่อนข้างมากประมาณ 8.2% การลดลงของการส่งออกจะกระทบโดยตรงกับ GDP ของเวียดนามและกระทบโดยตรงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในภาพรวมด้วย
ถึงแม้เวียดนามจะประสบผลกระทบในเรื่องการส่งออก แต่ก็ยังเป็นประเทศที่หลาย ๆ คนมองว่าน่าเข้ามาลงทุน น่ามาทำการค้าด้วยมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนามอยู่ประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าสูงมาก เพิ่มขึ้น 7.5 - 7.7% สาเหตุที่เวียดนามยังเป็นประเทศน่าลงทุน ผมมองว่ามีอยู่ 3 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 เวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA หลายฉบับFTA ของเวียดนามมี 16 ฉบับ ครอบคลุม 54 ประเทศ ล่าสุดเขาเพิ่งทำFTA กับอิสราเอล ก่อนที่จะมีประเด็นเรื่องสงคราม เมื่อเทียบกับไทยเรามี FTA ครอบคลุม 18 ประเทศ ผมยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นน้ำหนักความสำคัญของ FTA ที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามา เพราะภาษีการส่งออกจากเวียดนามเป็นศูนย์ ซึ่งน่าสนใจมากในเชิงการแข่งขัน และตอนนี้เวียดนามก็กำลังมองไปที่ประเทศในแถบลาตินอเมริกา ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR) และกลุ่มแอฟริกามากขึ้น ผมเชื่อมั่นว่าเวียดนามจะกลายมาเป็นโซ่กลางที่สำคัญในห่วงโซ่การผลิต คือเขาจะเข้าไปเป็นตัวเชื่อมระหว่างแหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการจัดการ การแปรรูป เพื่อให้เกิดสินค้าหรือบริการ ไปจนถึงมือผู้บริโภคในห่วงโซ่การผลิตของโลก ซึ่งอันนี้เป็นปัจจัยแรกที่ว่าทำไมเวียดนามถึงเป็นประเทศที่น่าลงทุน และทำไมเขาถึงยังมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนและแข็งขันอยู่
ประเด็นที่ 2 เวียดนามมีนโยบายด้านการต่างประเทศและเศรษฐกิจที่ไม่เลือกข้าง เนื่องจากเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แน่นอนพันธมิตรที่สำคัญของเวียดนามก็คือประเทศคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์เดิมทั้งหมด ในขณะที่เวียดนามก็ได้มีการรับเอาการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบตลาด (Socialist-Oriented Market Economy) ความหมายคือเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจกับตะวันตกอย่างเต็มที่ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าเวียดนามพยายามรักษาสมดุลของนโยบายนี้ กล่าวคือ เขาคุยได้กับทุกฝ่าย ทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก คอมมิวนิสต์และขั้วตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นจีนกับสหรัฐฯ รัสเซียกับยูเครนก็ดี ทั้งประเด็นไต้หวันหรือทะเลจีนใต้ เวียดนามคุยได้กับทุกคน นอกจากนี้ เขายังรักษาสมดุลไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขายังค้าขายได้ เขายังดึงดูดการลงทุนได้ บริษัทที่ย้ายการลงทุนจากจีน ประเทศแรกที่เขามองมาทางด้านภูมิศาสตร์คือการมองมาทางใต้ ซึ่งคือเวียดนาม ดังนั้น สมดุลอันนี้นอกเหนือจากเรื่อง FTA แล้ว นโยบายการต่างประเทศของเวียดนามก็เป็นเรื่องที่ทำให้เขาได้เปรียบมาก เพราะเป็นประเด็นที่สร้างความมั่นใจให้กับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนว่าเมื่อเข้ามาลงทุนในเวียดนามแล้ว จะมีความต่อเนื่องในเชิงนโยบายอยู่ค่อนข้างมาก
ล่าสุด เวียดนามเพิ่งต้อนรับการเยือนระดับสูงสุดของนาย โจ ไบเดนประธานาธิบดีสหรัฐฯ และยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็นระดับความสัมพันธ์ขั้นสูงสุดที่เรียกว่า หุ้นส่วนแบบยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งทำให้ทุกชาติต้องตกตะลึงเพราะเขาเคยทำสงครามกันมาก่อนเมื่อไม่ถึง 50 ปีที่แล้ว แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น การมาของสหรัฐฯ นอกจากการยกระดับความสัมพันธ์ในระดับสูงสุดแล้ว ที่สำคัญกว่านี้ คือการลงนามหุ้นส่วนทางด้าน Semiconductor หรือที่เรียกว่า Semiconductor Partnership อันนี้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าสหรัฐฯ ไว้ใจใคร เพราะคนที่ทำ Semiconductor ไม่ได้ทำเฉพาะประเด็นเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยเรื่องไซเบอร์ อาวุธ และความมั่นคงโดยรวม เพราะฉะนั้นผมมองว่าการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาเวียดนามอยู่ประเทศเดียว และลงนามในสิ่งที่หลายคนจับตามองถือว่ามีผลทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างมาก
ในขณะที่เวียดนามมีพลวัตมากในการดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ กับจีนเขาก็ไม่ได้ทิ้ง ผมเข้าใจว่าจะมีการเยือนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เวียดนามในปีนี้หรืออย่างช้าก็ต้นปีหน้าด้านการค้าชายแดนระหว่างเวียดนามกับจีนก็ยังเป็นการค้าชายแดนที่มีตัวเลขสูงมากอยู่ การส่งออกสินค้าเกษตรของเวียดนามส่วนใหญ่ไปที่จีน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ ๆ อย่างรถไฟความเร็วสูงเส้นเหนือถึงใต้ของเวียดนาม เขาก็กำลังสนใจว่าจะให้จีนเป็นผู้มาลงทุน
ประเด็นที่ 3 คือความน่าสนใจภายในประเทศของเวียดนาม เวียดนามเป็นประเทศที่ยังมีค่าแรงต่ำระดับหนึ่ง ถ้าเทียบกับไทยถือว่าต่ำกว่าไทยอยู่ประมาณ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ มีค่าไฟที่ต่ำมาก ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 3 และทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ของเวียดนาม อัตราค่าไฟก็ไม่เท่ากัน โดยจะต่ำลงไปอีกหากอยู่ในพื้นที่ที่เขาสนับสนุนการลงทุน"
ทิศทางนักลงทุนไทย
จากการที่เวียดนามประกาศแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2050 และมุ่งมั่นสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานมีความน่าสนใจขึ้นอย่างมากในสายตานักลงทุนจากทั่วโลกรวมถึงนักลงทุนไทย
"ภาพรวมความสัมพันธ์ไทยกับเวียดนามอยู่ในระดับที่ผมคิดว่าดีที่สุดในตอนนี้ คือทั้ง 2 ฝ่ายมีความสนิทสนม มีความไว้เนื้อเชื่อใจ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงมาก ในปีหน้าเราก็มีแผนที่จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ ตั้งแต่รัฐมนตรีต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี รวมถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วม
ไทยถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของเวียดนามในอาเซียน เราตั้งเป้าไว้ว่าปี ค.ศ. 2025 ก็คืออีก 2 ปีจากนี้มูลค่าการค้าของเราจะอยู่ที่ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้เราอยู่ที่เกือบ 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงคาดว่ามูลค่าการค้าจะเกินเป้าที่ตั้งไว้ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2025 อย่างไม่มีปัญหา
เรื่องการลงทุนตอนนี้เราเป็นนักลงทุนอันดับ 9 ของเวียดนาม ด้วยโครงการลงทุนประมาณ 766 โครงการ ส่วนถ้าในอาเซียน สิงคโปร์จะถือเป็นอันดับหนึ่ง การลงทุนของเราจะเป็นเรื่องของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม การแปรรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพลังงานทดแทน เรามีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่กว่า 13,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อปี พ.ศ. 2564 ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกับภาคเอกชนไทยได้ร่วมกันจัดตั้งหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนามหรือ Thai Chamber of Commerce and Industry (ThaiCham) ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเรายังไม่เคยรวมตัวกันได้ ณ วันนี้เราสามารถรวมตัวกันภายใต้ ThaiCham ทำให้น้ำหนักในการที่เราจะสื่อสารอะไรไปที่รัฐบาลเวียดนาม การทำกิจกรรมเพื่อสังคม การถ่ายทอดว่าเรากำลังมุ่งเป้าไปที่การลงทุนอะไร สามารถทำได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมจึงมองว่าภายใต้นโยบายของทั้งไทยและเวียดนาม ไทยซึ่งมีนโยบายการลงทุนที่น่าชื่นชม เราเป็นนักลงทุนที่มีคุณภาพ มีความรับผิดชอบ ประกอบกับชื่อเสียงที่ดีของนักลงทุนไทยทำให้คนเวียดนามอยากให้นักลงทุนไทยมาลงทุนมากยิ่งขึ้น เวียดนามเองก็ต้องการดึงดูดการลงทุน ต้องการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และพึ่งพาการส่งออก เขาก็ต้องการ FDI ซึ่งจะส่งผลให้ GDP เพิ่มตามด้วย ดังนั้น ทั้งสองประเทศมีนโยบายที่เกื้อหนุนกัน ทั้งผู้ที่ต้องการมาลงทุนและผู้ที่ต้องการส่งเสริมให้มีการลงทุน นั่นก็คือทิศทางภาพรวมเกี่ยวกับไทยและนักลงทุนไทยในเวียดนาม
การลงทุนรักษ์โลก
ด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่โดดเด่นส่งผลให้การลงทุนด้านพลังงานมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งนโยบายต่าง ๆ ของเวียดนามที่สอดรับกับการเตรียมพร้อมสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ
"สถานการณ์พลังงานของเวียดนามตอนนี้ สิ่งที่เป็นปัจจัยหลักที่เราต้องคำนึงถึงเลยก็คือ การที่เวียดนามประกาศนโยบายที่ COP26 ว่าเขาจะเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ดังนั้น ความมุ่งมั่นนี้จะเป็นรากฐานในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของเวียดนามทั้งหมด โดยสะท้อนออกมาในสิ่งที่เราเรียกว่า แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII : PDP 8) แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปกว่า 2 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางหลักของการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในเวียดนามที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างที่เวียดนามกำลังจะเปลี่ยนตัวเองจากการใช้พลังงานจากคาร์บอน (Carbon Based Energy) มาเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2050
เป้าหมายของแผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติฉบับที่ 8 (PDP8) คือ การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 150,000 เมกะวัตต์ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งนัยยะสำคัญก็คือเป็นพลังงานหมุนเวียนประมาณ 39% และในปี พ.ศ. 2593 เวียดนามจะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินทั้งหมด โดยเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากถ่านหินไปสู่พลังงานอื่น ๆ แทน เช่น พลังงานชีวมวล พลังงานแอมโมเนีย
นอกจากนี้ เขายังให้ความสำคัญไปถึงเรื่องการใช้ก๊าซ LNG ต่าง ๆ พลังงานชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานทดแทนอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ ภายในปี พ.ศ. 2593 การใช้ก๊าซ LNG ทั้งหมดก็จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฮโดรเจนแทน เพราะฉะนั้นผมจึงมองว่า แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ ฉบับที่ 8 มีนัยสำคัญ เพราะเป็นการวางแผนแบบระยะยาว ระยะกลาง และระยะสั้น โดยทิศทางของนโยบายการผลิตพลังงานเวียดนามจะเป็นแบบดำเนินไปทีละขั้น แล้วถึงจะไปสู่สังคมปลอดคาร์บอน (Carbon Free Society) ได้
ดังนั้น แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติฉบับที่ 8 จึงมีความสำคัญต่อนักลงทุนไทย เพราะการที่ไทยเป็นนักลงทุนอันดับ 9 ในเวียดนามจากจำนวนการลงทุนทั้งหมดประมาณ 1 ใน 3 ของการลงทุนไทยอยู่ในส่วนของพลังงานทดแทน ผมคิดว่ามีบริษัทไทยที่ทำเรื่องพลังงานทดแทนเข้ามาในเวียดนามครบทุกบริษัทแล้ว เราได้พยายามสนับสนุนเป้าหมายของเวียดนามที่จะเป็น Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2050 นอกจากนี้ การที่เวียดนามประกาศเป้าหมายที่ชัดเจน ยังเป็นผลประโยชน์ของเวียดนามที่ได้อานิสงส์ของในการเข้าไปอยู่ในโครงการ Just EnergyTransition Partnership หรือที่เรียกว่า JETP ของกลุ่ม G7 เวียดนามสามารถได้เงินสนับสนุน 15,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากโครงการนี้เพื่อเปลี่ยนตัวเองจากสังคมคาร์บอน (Carbon Society) เป็นสังคมปราศจากคาร์บอน (Zero Carbon Society) เพราะฉะนั้น ตัวผมเองมองว่านักลงทุนไทยเป็นผู้เล่นตัวสำคัญในการที่จะช่วยให้เวียดนามบรรลุเป้าหมายนี้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผมมองว่าการเป็นหุ้นส่วนเชิงการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับเวียดนามเป็นเรื่องที่เราทั้งคู่ต่างคนต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
อีกเรื่องที่เราต้องไม่ลืมว่าเวียดนามภูมิศาสตร์ของประเทศเขาคืออะไร เวียดนามเป็นประเทศที่มีแนวชายฝั่งยาวประมาณ 3,200 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นหากประสงค์จะลงทุนในโครงการพลังงานนอกชายฝั่ง ใกล้ชายฝั่ง หรือบนชายฝั่งก็สามารถทำได้ตลอดแนว จึงสามารถกล่าวได้ว่าภูมิศาสตร์เขาเอื้อมาก ไม่นับลมซึ่งที่ค่อนข้างแรง แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือจะได้ลม ได้แสงแดดค่อนข้างมาก ข้อเสียคือเจอวาตภัย ลมพายุทุกปีเพราะฉะนั้นเขามีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เอื้อต่อการพัฒนาไปสู่พลังงานทดแทน โครงการของเอกชนไทยก็มีทั้งหมด ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ อย่างเดียวที่เราไม่ได้ลงทุนคือพลังงานน้ำ เพราะว่าเวียดนามซื้อไฟฟ้ามาจากโครงการพลังงานน้ำที่ สปป.ลาว หรือไม่เขาก็พัฒนาของเขาเอง มูลค่าการลงทุนในด้านพลังงานหมุนเวียนของไทยสูงอยู่ที่ประมาณเกือบ 4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ประมาณ 1,900 เมกะวัตต์ พลังงานลมอยู่ประมาณ 900 กว่าเมกะวัตต์"
สานต่อความร่วมมือด้านพลังงาน
การร่วมมือในการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานระหว่างไทยและเวียดนามเป็นไปในทิศทางที่เติบโตและยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากโครงการที่ทั้งสองประเทศได้จัดขึ้นร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อกันทั้งสองฝ่าย
"ไทยกับเวียดนามมีโครงการที่สำคัญระหว่างกันอยู่ โดยเป็นโครงการที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นผู้ผลักดัน โครงการแรกคือ การจัดให้ 2 ฝ่ายมี Thailand-Vietnam Energy Forum ซึ่งจัดมาแล้ว 2 ครั้ง เป็นการนำเอาหน่วยงานด้านพลังงานของ 2 ฝ่ายมาพูดคุยกัน ของไทยก็จะเป็นกระทรวงพลังงาน ครั้งที่แล้วก็จะมีEGAT EGATi กระทรวงพลังงานและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วม ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ใช้เวทีนี้ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นความต้องการของแต่ละฝ่าย ในส่วนของไทยก็เพื่อเข้าไปลงทุน ในส่วนของเวียดนามก็เพื่อดึงดูดนักลงทุน นอกจากนี้สถานเอกอัครราชทูตฯ ก็ได้ริเริ่มโครงการที่เรียกว่า Emerging Leaders คือการพาผู้นำยุคใหม่ของเวียดนามไปเยือนไทยทุกปีซึ่งปีที่ผ่านมาเราจัดในธีม (theme) ที่เกี่ยวกับพลังงานโดยเฉพาะสำหรับตัวผมเองได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของพลังงานทดแทน เพราะผมมองเห็นว่าจะเป็นโอกาสสำหรับฝ่ายไทย ดังนั้นธีมของการจัดกิจกรรมครั้งล่าสุดจึงเป็นเรื่องของ Partnership for Sustainable Energy โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้นำผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนามไปศึกษาดูงานเมืองไทย รวมไปถึงที่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ซึ่งเป็นโมเดลแบบ Wind Hydrogen Hybrid คือการเก็บกักพลังงานในรูปของไฮโดรเจน ก่อนนำมาผลิตไฟฟ้าโดยผ่านเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้า ทางเวียดนามมีความประทับใจว่าไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้มาก แม้สภาพภูมิศาสตร์ของเราที่ไม่ได้มีภูเขาสูง ไม่ได้มีลมแรงมาก รวมไปถึงแนวชายฝั่งก็ไม่ได้ยาว แต่เรามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะไปสู่จุดหมายนั้น ซึ่งเขาก็มองเราด้วยความชื่นชม แล้วก็จะนำโมเดลของเราหลาย ๆ อย่างไปปรับใช้ที่เวียดนาม
กิจกรรมที่ 2 ที่อยากจะไฮไลต์ก็คือ ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดกิจกรรม Meet Thailand ซึ่งเป็นการจัดให้ผู้นำของจังหวัดต่าง ๆรวมทั้งเอกชนมาพบเจอคนไทย นักลงทุนไทย นักธุรกิจไทย ซึ่งการจัดกิจกรรม Meet Thailand ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปีนี้ ระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2566 ที่จังหวัดกว๋างจิ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคกลางของเวียดนาม โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งไทยและเวียดนาม รวมกันทั้งหมดเกือบ 500 คนซึ่งมีนักลงทุนไทยเดินทางมาเข้าร่วมจากประเทศไทยด้วย ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความสนใจที่จะมาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่เวียดนามค่อนข้างมาก นอกจากนี้ จังหวัดกว๋างจิเป็นจังหวัดที่รัฐบาลเวียดนามมองไว้ว่าจะให้เป็นเมืองหลวงด้านพลังงานของเวียดนาม เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนของเวียดนาม จึงเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการลงทุนเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ไทยยังมีความร่วมมือด้านพลังงานกับเวียดนามที่สำคัญคือ โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ Block B-Omon ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม โดยมี ปตท.สผ. เป็นผู้ลงทุนร่วมกับปิโตรเวียดนาม และ MOECO (Mitsui Oil Exploration) จากญี่ปุ่น ซึ่งผมเพิ่งไปร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามของทั้ง 3 ฝ่าย กับนายกรัฐมนตรีเวียดนาม และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเวียดนาม ซึ่งเป็นโครงการ Gas to Power ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามในขณะนี้ดังนั้น ผมมองว่าโครงการ Block B-Omon จะเป็นต้นแบบของความร่วมมือไตรภาคีในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของเวียดนามได้อีกด้วย"
เส้นทางสู่การลงทุนในเวียดนาม
ถึงแม้ว่าการลงทุนจะเป็นหนทางสู่ความมั่นคงและการเติบโตทางธุรกิจ แต่การลงทุนก็มีความเสี่ยง หากขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การขาดทุนได้ คุณนิกรเดช ได้ให้คำแนะนำถึงเรื่องสำคัญและความท้าทายที่นักธุรกิจไทยต้องศึกษาและทำความเข้าใจอย่างความรอบคอบก่อนเข้ามาทำธุรกิจพลังงานที่เวียดนาม
"การเข้ามาทำธุรกิจที่เวียดนาม ผมอยากจะแนะนำ 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือศึกษากฎหมายเวียดนามให้ดี แม้ว่าทุกคนจะพูดว่าเวียดนามมีความต่อเนื่องด้านกฎระเบียบ คือหนึ่งเขาตั้งเป้าก่อน เขาจะเดินตามแผนของเขา เมื่อเขามีเป้าเขาจะมีแผนปฏิบัติการ เวียดนามขึ้นชื่อมากว่าเขาเป็นคนที่เวลามีเป้าหมายมีแผนเขาจะเดินตามแผน สาเหตุที่เขาทำเช่นนั้นได้ เพราะเขาเป็นระบบสังคมนิยมพรรคเดียว ซึ่งไม่มีคำว่าเปลี่ยนพรรค หรือเปลี่ยนนโยบายหลังการเลือกตั้ง ดังนั้นความชัดเจนตรงนี้ถือเป็นข้อได้เปรียบ
อย่างไรก็ดี ในเรื่องพลังงานเวียดนามกำลังปรับเป้าหมายของตัวเองไปสู่การเป็นสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) จุดนี้ทำให้เวียดนามต้องคอยปรับนโยบาย หากนโยบายเรื่องไหนที่ใช้ได้เขาก็ใช้ต่อไป อะไรที่ใช้ไม่ได้เขาก็ต้องปรับ ส่งผลให้อาจมีการออกกฎหมายลูกตามมาได้ ฉะนั้นข้อแรกคือศึกษากฎหมายให้ดี สองคือการจะมาเป็นหุ้นส่วนกับเวียดนามก็ต้องศึกษาหุ้นส่วนให้ดีว่าได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไหม มีชื่อเสียงที่ดีไหม เราก็ต้องศึกษาเรื่อง due diligence ให้ดีด้วย
สำหรับผลกระทบจากการที่แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติฉบับที่ 8(PDP8) ออกมาช้ากว่ากำหนด ทำให้บริษัทไทยที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านโดยเฉพาะบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดำเนินการพัฒนาโครงการและจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ไม่ทันกำหนด เพราะมีการล็อคดาวน์ มันก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมา ทุกบริษัทที่ประสบปัญหาก็กำลังเจรจากับรัฐบาลเวียดนามอยู่ อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง
ประเด็นที่ 2 คือเรื่องการขาดแคลนไฟของเวียดนาม ตอนนี้เวียดนามเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกสูง ดังนั้นความต้องการการใช้ไฟก็สูงขึ้นตามไปด้วย แต่เราจะมองแค่ความต้องการของเขาเป็นตัวตั้ง แล้วรีบเข้ามาทำเรื่องไฟฟ้าอย่างเดียว มันจะเป็นการมองที่ผิวเผินเกินไป เราควรมองเชิงลึกกว่านั้นว่ารัฐบาลเขามีความพร้อมด้านกฎหมายที่จะรองรับการเข้ามาของพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นแล้วหรือยัง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมอยากจะบอกไปที่ภาคเอกชนไทยว่าการจะเข้ามาลงทุนที่นี่ ผมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่และผมมองว่าเป็นโอกาสอย่างมาก แต่การเข้ามาต้องเข้ามาด้วยความระมัดระวังและจำเป็นต้องเข้ามาด้วยการทำการบ้านอีกด้วย"
รัฐบาลไทยพร้อมส่งเสริมและสนับสนุน
ภายใต้เทรนด์การลงทุนเรื่องพลังงานสะอาด ส่งผลให้ธุรกิจด้านนี้เป็นที่น่าจับตามอง จากการลงทุนที่สร้างความยั่งยืนและโอกาสในการเติบโตสูง ซึ่งทางรัฐบาลไทยเองก็ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในเวียดนามเป็นอย่างดี
"ตอนนี้มีผู้สนใจจะมาลงทุนด้านพลังงานในเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานทดแทน หนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดก็น่าจะเป็นเกาหลีใต้ ซึ่งไทยก็จัดอยู่ในลำดับ Top 3 ของผู้ลงทุนต่างชาติในสาขานี้เช่นกัน ในส่วนของไทยเราก็ยังมองว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักลงทุนสนใจมากที่สุดอยู่นะครับ ผมเชื่อว่าตอนนี้หลาย ๆ บริษัทกำลังมองไปที่การเข้ามาของพลังงาน LNG เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ของเวียดนาม ทาง ThaiCham เองก็เริ่มสั่งสมประสบการณ์เรื่องนี้อยู่ อย่างที่ผมเรียนไปเบื้องต้น หลายบริษัทที่เข้ามาอยู่ใน ThaiCham ประมาณ 12 - 13 บริษัท ที่ผ่านมา 3 - 4 ปี ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ก็ล้มลุกคลุกคลานกันพอสมควร เพราะบางโครงการเสร็จไม่ทันบ้าง แต่ตอนนี้เรามีข้อมูลและระบบฐานข้อมูลที่ดีอยู่ใน ThaiCham แล้ว หากใครจะเข้ามา ผมก็อยากแนะนำว่าให้เข้าไปคุยกับ ThaiCham หรือคุยกับรุ่นพี่ภาคเอกชนอื่น ๆ ที่อยู่ในนั้นก็ได้เพราะเกือบทุกบริษัทอยู่ในนั้นหมด ผมมีความรู้สึกว่าคนไทยพร้อมที่จะแบ่งปันข้อมูลกันเองอยู่แล้ว
ส่วนการสนับสนุนจากรัฐบาล ผมเรียนได้เลยว่ารัฐบาลไทยให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก ล่าสุดท่านปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็เพิ่งมาเยือนเวียดนาม ท่านได้พูดคุยประเด็นเรื่องพลังงานกับนายกรัฐมนตรีเวียดนามว่า เราเป็นผู้ลงทุนในอันดับ Top 3 เราสนใจที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งเวียดนามยินดีต้อนรับการลงทุนของไทยนายกรัฐมนตรีเวียดนามก็บอกว่าพร้อมมากที่จะให้การดูแลโครงการต่าง ๆ ของไทย
สุดท้ายนี้ ผมเองในฐานะเอกอัครราชทูต เรามีทีมไทยแลนด์ ทั้งฮานอยและโฮจิมินห์ ภายใต้ทีมไทยแลนด์เราก็มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI (Board of Investment) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) อยู่ และเราก็ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหอการค้าไทย ผมขอยืนยันความพร้อมในการสนับสนุน ให้ความร่วมมือ ตั้งแต่ข้อมูลที่สนใจอยากจะเข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจในเวียดนาม นอกจากนี้ เรามีหน่วยงานในสถานเอกอัครราชทูตฯที่เรียกว่า ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเวียดนาม (BIC) ที่พร้อมให้ข้อมูลในเบื้องต้น หรือเมื่อมาลงทุนแล้วประสบปัญหาอะไร ทางเราก็ยินดีมากที่จะให้การสนับสนุนในฐานะที่เป็นบริษัทของไทย"
การเดินหน้าขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาดของเวียดนามภายใต้แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติฉบับที่ 8 ถือเป็นโอกาสและความท้าทายสำหรับนักลงทุนทั่วโลก และก็ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น หากแต่เป็นโอกาสในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานของทุกคนในอนาคต