บทความ

กลับไปหน้าบทความ

Energizing ASEAN: Thailand-Lao PDR Partnership ความสัมพันธ์ไทย-สปป. ลาว ร่วมสร้างพลังอาเซียน

ไทยและ สปป. ลาว ถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งสองประเทศต่างมีบทบาทสำคัญในฐานะสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความร่วมมือในการผลิตพลังงานสะอาด อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจนี้ผ่านบทสัมภาษณ์ นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์  

ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในประเทศที่มีความโดดเด่นในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดคือ สปป. ลาว เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ขณะเดียวกัน สปป. ลาว ก็เร่งพัฒนาประเทศให้เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย (Battery of Asia) ฉบับนี้เราได้รับเกียรติจาก นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ มาพูดคุยถึงภาพรวมธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศของ สปป. ลาว นโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน และโอกาสสู่การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนไทยและ สปป. ลาว ในขณะนี้

นโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของ สปป. ลาว

“ในปีที่ผ่านมา สปป. ลาว เผชิญกับความท้าทายหลายประการ ตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา สปป. ลาว ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับทุกประเทศ เพียงแต่ สปป. ลาว ซึ่งอยู่ในช่วงที่กำลังปรับตัวเพื่อเริ่มเปิดประเทศจริงจัง จึงมีความสะดุดในเรื่องของเศรษฐกิจพอสมควร และเมื่อผ่านพ้นช่วงโควิด-19 ไปแล้วก็ยังต้องใช้เวลาเพื่อฟื้นตัวทางเศรษฐกิจพอสมควร แม้จะมีอุปสรรคและความท้าทายที่ต้องเผชิญหลายประการ จากปัญหาเงินกีบอ่อนค่า อัตราเงินเฟ้อสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ แต่นโยบายหลักที่สำคัญยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะเป็น ‘Battery of Asia’ ผลิตพลังงานเพื่อส่งขาย เป็นรายได้หลักที่สำคัญของประเทศ หรือนโยบายการเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งตามยุทธศาสตร์เปลี่ยนจากประเทศ Land-Locked สู่ Land-Linked จึงเห็นได้ว่า สปป. ลาว มีความพยายามและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาในมิติทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม และพยายามแก้ไขปัญหาความท้าทายด้านเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

จากข้อมูลทางการ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวต่อปี (GDP Per Capita) ของ สปป. ลาว ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 67,000 บาท ขยายตัวร้อยละ 4.2 ซึ่งสูงกว่าที่ธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ด้วยผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ เรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก ธนาคารโลกจึงได้ประเมินว่าเศรษฐกิจโดยรวมของ สปป. ลาว ในปี 2567 จะเติบโตประมาณร้อยละ 4 แต่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจตามรายงานของท่านนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ต่อสภาแห่งชาติคือร้อยละ 4.7 โดยปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจก็คือการที่ สปป. ลาว เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ และ สปป. ลาว ได้ประกาศให้ปีนี้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยว ส่งผลให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวขยายตัวขึ้น ทั้งนี้จะต้องมีแผนรองรับต่อเนื่องสำหรับในปีถัด ๆ ไป ธุรกิจต่าง ๆ ที่ขยายตัว เช่น การลงทุนสร้างโรงแรมใหม่ ๆ รวมทั้งภาคบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจะต้องส่งเสริมให้เติบโตต่อไป การจัดเก็บรายได้จัดเก็บภาษีอากรเป็นอีกส่วนหนึ่งที่กระตุ้นการเติบโตเช่นกัน นอกจากนี้ การขนส่งโลจิสติกส์ การลงทุนภาคพลังงาน การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

สำหรับด้านการค้า ในปี 2566 สปป. ลาว มีมูลค่าการค้ารวม 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.7 แสนล้านบาท โดยส่งออก 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท และนำเข้า 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.54 แสนล้านบาท เกินดุลการค้า 4 ปีติดต่อกันแล้ว หลังจากขาดดุลการค้ามานานกว่า 23 ปี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกินดุลการค้า คือการส่งออกพลังงานและแร่ธาตุ สปป. ลาว มีพลังงานไฟฟ้าเป็นสินค้ายุทธศาสตร์สำคัญที่ช่วยหนุนการเติบโตของภาคการค้าถึงร้อยละ 34.60 รองลงมาคือรายได้จากการส่งออกแร่ทองคําและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ทองแดง เหล็ก และเกลือโปแตช สปป. ลาว เป็นประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ สิ่งที่อาจจะต้องต่อยอดต่อไปในอนาคตก็คือ ธุรกิจที่ต่อยอดจากภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดความความเติบโตอย่างยั่งยืนได้

อีกภาคส่วนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของ สปป. ลาว คือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ Foreign Direct Investment: FDI ที่รัฐบาล สปป. ลาว ให้ความสำคัญมาก โดยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์อำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดการลงทุน ปัจจุบัน การลงทุนรวมสะสมของไทยใน สปป. ลาว ตัวเลข ณ เดือนมิถุนายนปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 4.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 2 ของ สปป. ลาว รองจากการลงทุนของจีน ซึ่งลงทุนรวมมูลค่าประมาณ 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หมวดธุรกิจที่เติบโตมากที่สุดในครึ่งปีแรก 2567 คือภาคพลังงานไฟฟ้า การขุดค้นแร่ธาตุ และการเกษตร ประเทศอื่น ๆ ที่ลงทุนในสปป. ลาว มีเวียดนาม เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น”

ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านพลังงาน

“ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของ สปป. ลาว ปี 2566 พบว่า สปป. ลาว มีแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าลาว (EDL-GEN) ที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 98 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 11,692.14 เมกะวัตต์ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 58,884 กิกะวัตต์ต่อปี ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 81 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 12 แห่ง โรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 1 แห่ง นับว่าจำนวนมากพอสมควรสำหรับประเทศที่มีประชากรประมาณ 7.5 ล้านคน จากจำนวนโรงไฟฟ้าทั้งหมดนี้จําหน่ายไฟฟ้าให้ไทยทั้งหมด 9 โครงการ จำนวน 5,935 เมกกะวัตต์ ได้แก่ (1) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน-หินบูน แขวงคำม่วน (2) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยเฮาะ แขวงอัตตะปือ (3) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 แขวงคำม่วน (4) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 แขวงไซสมบูน (5) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน-หินบูน ส่วนต่อขยาย แขวงคำม่วน (6) โครงการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินหงสาลิกไนต์ แขวงไซยะบุรี (7) โครงการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 แขวงบอลิคำไซ (8) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี (9) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย แขวงอัตตะปือ

ในปี 2566 EDL-GEN ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ EDL รายงานความสำเร็จในการเพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้าใน สปป. ลาว 5 โครงการ มีทั้งโครงการพลังน้ำและพลังแสงอาทิตย์ และที่ลงนามสัญญาสัมปทาน (Concession Agreement: CA) แล้วอีก 7 โครงการ จึงเห็นได้ว่าทาง สปป. ลาว มีความตั้งใจเรื่องของการลงทุนด้านพลังงาน เราก็ต้องเอาใจช่วยกันต่อไปให้โครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จด้วยดี สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ต่อไป โครงการสำคัญที่เริ่มก่อสร้างแล้ว ได้แก่ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินน้ำพาน โรงไฟฟ้าพลังงานลมมอนซูน แขวงเซกองและแขวงอัตตะปือ โครงการนี้ถือเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมโครงการแรกใน สปป. ลาว และเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน บริษัทไทยที่มาสำรวจและลงทุนก็คือ มอนซูน วินด์เพาเวอร์ จำกัด โดยไฟฟ้าที่ผลิตจะจำหน่ายไปยังเวียดนาม แหล่งพลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ซึ่งเราทราบกันดีว่าเวียดนามขยายการลงทุนในเรื่องของระบบโลจิสติกส์การขนส่ง และอุตสาหกรรมต่าง ๆ พอสมควร”

จาก Battery of Asia สู่ ASEAN Power Grid

“จากความร่วมมือด้านพลังงาน เราหวังจะเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้งสองประเทศ ไทยและ สปป. ลาว มีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาด้านไฟฟ้า โดยไทยจะรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว จำนวน 10,500 เมกะวัตต์ ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าแล้ว 8,894 เมกะวัตต์ (ยังเหลือโควตาอีกประมาณ 1,606 เมกะวัตต์) โครงการไฟฟ้าที่ไทยรับซื้อทุกแห่งเป็นโครงการที่ผู้ประกอบการไทยได้รับสัมปทาน เป็นผู้ลงทุน ผู้ก่อสร้าง และผู้จำหน่ายไฟฟ้า และ กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ หวังว่าในอนาคตคนไทยจะได้ใช้พลังงานไฟฟ้าในราคาที่เป็นมิตรกับชีวิตเรามากขึ้น มีพลังงานสะอาดสำหรับการลงทุนที่จะสร้างการเติบโตให้ประเทศ

แหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด มีความสำคัญสำหรับธุรกิจในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีขั้นสูง หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศูนย์ข้อมูล (Data Center) ธุรกิจเหล่านี้มีความต้องการพื้นฐานว่าต้องใช้พลังงานสะอาด ในอาเซียนเรามีแนวทางการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน หรือ The ASEAN Power Grid: APG ซึ่งเพิ่งหมดอายุไป กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อจะเริ่มเฟสต่อไป โดยประเทศสมาชิกสามารถสร้างความตกลงกันได้ ซึ่งไทยเองก็มีความตกลงระหว่าง ไทย-สปป. ลาว-มาเลเซีย-สิงคโปร์ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่เราจะขายพลังงานผ่านไทยไปให้มาเลเซียหรือสิงคโปร์ได้ เท่าที่ทราบก็กำลังดำเนินการกันอยู่ ต้องเรียนว่าความมั่นคงทางด้านพลังงานมีความสำคัญต่ออาเซียนในภาพรวม ทุกประเทศต้องการพลังงานสะอาดทั้งสิ้น เพื่อตอบโจทย์เรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เรื่องผลประโยชน์เป็นเรื่องที่จะต้องปรึกษาหารือ เจรจาต่อรอง ทั้งประเทศผู้ผลิตไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะใช้พลังงานสะอาดเหล่านี้ แต่แน่นอนว่าเราควรจะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น คงจะต้องฝากผู้ที่ดูแลนโยบายด้านพลังงานด้วยว่าจะใช้แนวทางหรือวิธีการหารืออย่างไร เพื่อหาจุดร่วมของผลประโยชน์เหล่านี้ที่จะก่อให้เกิดการสร้างประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันของภูมิภาคอาเซียน”

ยุทธศาสตร์ดึงดูดการลงทุน และความท้าทายที่ธุรกิจไทยอาจต้องเผชิญ

“เมื่อเร็ว ๆ นี้สภาแห่งชาติ สปป. ลาว ได้ผ่านกฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ และออกระเบียบอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างประเทศ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร การปรับปรุงนโยบายทางภาษี-ศุลกากร แรงงาน สิทธิการใช้ที่ดิน เช่น หากเป็นการลงทุนจากต่างประเทศจะได้รับยกเว้นภาษีในเงื่อนไขที่ดีขึ้น ยกเว้นอัตรานําเข้าศุลกากร ยกยอดขาดทุนหักลบทางบัญชีได้นานถึง 3 ปี ยกเว้นค่าเช่าหรือสัมปทานที่ดินรัฐ รวมถึงมีนโยบายส่งเสริมตามประเภทธุรกิจ นโยบายส่งเสริมตามเขตอุตสาหกรรม แบ่งเขตอุตสาหกรรมเป็นเขตพื้นที่ห่างไกล เขตที่มีโครงสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการลงทุน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งแต่ละเขตสิทธิประโยชน์ก็แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตามเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ หนี้ต่างประเทศ สภาพเศรษฐกิจโดยรวม เป็นความท้าทายที่นักลงทุนจะต้องเตรียมตัว ซึ่งแม้ดูเหมือนว่ายังไม่สร้างแรงจูงใจกับนักลงทุนมากนักในระยะนี้ แต่เมื่อการปรับปรุงกฎระเบียบ หรือมาตรการต่าง ๆ ผ่านไปด้วยดี ประกอบกับการให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ และมีตัวอย่างของธุรกิจที่เข้ามาลงทุนและได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กำหนด รวมถึงการลงทุนอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว ถ้าสามารถเห็นช่องทางที่จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจอุตสาหกรรมได้ ก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความสนใจ ดึงดูดนักลงทุนใหม่ ๆ ได้ค่ะ”

ลงทุนอย่างยั่งยืน กุญแจสู่ความสำเร็จ

“นักลงทุนที่ลงทุนอยู่แล้วในบางอุตสาหกรรมอาจมีข้อได้เปรียบอยู่บ้าง เพราะว่ารู้จักที่นี่ดี เห็นช่องทางเห็นโอกาสอยู่แล้ว สิ่งที่ได้พยายามสื่อสารกับทางหน่วยงานของฝ่าย สปป. ลาว ก็คือ เรื่องการคุ้มครองนักลงทุนและทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจที่จะลงทุนต่อไป สำหรับนักลงทุนใหม่ หากมีพันธมิตรทางธุรกิจหรือคู่ค้าที่นี่อยู่แล้ว ก็น่าจะอุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง ธนาคารไทยใน สปป. ลาว ก็มีหลายแห่ง สามารถขอรับคำแนะนำในเรื่องของการลงทุน หรือมาตรการต่าง ๆ ด้านการเงินได้

สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดการปรึกษาหารือกับภาคธุรกิจเป็นระยะ ๆ ร่วมกับทางสมาคมนักธุรกิจไทยใน สปป. ลาว สิ่งที่เราต้องการเห็นคือ การประสานงานอย่างใกล้ชิด การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบหรือมาตรการด้านการเงิน การลงทุน กฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ระหว่างภาคเอกชนไทยด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือดูแลและเกื้อกูลกัน นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ย้ำขอความร่วมมือภาคเอกชนไทยพิจารณาให้การสนับสนุนชุมชนและสังคมของ สปป. ลาว อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของนักลงทุนต่างชาติใน สปป. ลาว ซึ่งต้องเรียนด้วยความภูมิใจว่า นักลงทุนไทยใน สปป. ลาว เป็นนักลงทุนที่มีคุณภาพค่ะ เพราะเป็นนักลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคมต่อชุมชน ไม่ว่าจะในภาคพลังงานหรือภาคส่วนอุตสาหกรรมการลงทุนอื่น ๆ ถ้าดำเนินการด้วยความรับผิดชอบ ด้วยความใส่ใจ ก็จะเกิดประโยชน์ในระยะยาวกับประชาชนทั้งสองประเทศ”

ความร่วมมือระหว่างไทยและ สปป. ลาว โดยเฉพาะในด้านพลังงาน นับเป็นก้าวที่สำคัญและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของ สปป. ลาว อย่างยิ่ง รวมทั้งยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน และเป็นการร่วมกันขับเคลื่อน ASEAN Power Grid ให้บรรลุตามเป้าหมายในอนาคตอันใกล้


กลับไปหน้าบทความ