บทความ
13/06/2567
Renewable Energy Certificate กลไกพลังงานสะอาด เปิดโอกาสให้ทุกธุรกิจ
REC ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน อีกหนึ่งกลไกที่จะนำประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
จากความมุ่งหวังในการมีส่วนร่วมดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมแบบยั่งยืน กฟผ. ในฐานะผู้บุกเบิกการดำเนินการออกใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) รายแรกของประเทศไทย ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดรับกับทิศทางการเติบโตของพลังงานสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงกระตุ้นการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และเพื่อเป็นการทำความเข้าใจกับบทบาทในภารกิจนี้ของ กฟผ. ให้มากยิ่งขึ้น เราได้รับเกียรติจากผู้บริหารตัวแทน กฟผ. 4 ท่าน นำโดย คุณนฤมล กุณาศล Chief, Renewable Energy and Digital Utility Business Development Department คุณมัญชุตา กิ่งเนตร Head, Renewable Energy Business Section คุณนราพร เครือตา Head, Renewable Energy Certification Section และคุณยุรนันท์ ใจเยือกเย็น Head, Energy Business Data Processing and Analysis Section จะมาให้ข้อมูลและไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ REC นี้
ความสำคัญของใบรับรองพลังงานหมุนเวียน
เนื่องจากเราไม่อาจทราบได้เลยว่าไฟฟ้าที่ใช้จากระบบไฟฟ้าทุกวันนี้เป็นไฟฟ้าสีเขียวหรือไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือไม่ หากไม่มีเอกสารเพื่อยืนยันว่าไฟฟ้านั้นผลิตมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนจริง ๆ ดังนั้น REC จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาช่วยรับรองแหล่งผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้
“ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) คือ ใบรับรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่สามารถซื้อขายได้ เพื่อยืนยันแหล่งผลิตว่ามาจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ หรือลม เป็นต้น ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้
ดังนั้น การซื้อหรือขาย REC จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เพิ่มมากขึ้น โดย REC สามารถนำไปใช้ในการลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ในกิจกรรมที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า Scope 2: Indirect Emission นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานไฟฟ้า รวมถึงเป็นอีกกลไกที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งยังช่วยให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน”
บทบาทในฐานะผู้ให้การรับรอง REC
กฟผ. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับรอง REC ในประเทศไทย (Local Issuer สำหรับประเทศไทย) จากเจ้าของมาตรฐาน คือ The International Tracking Standard Foundation (I-TRACK Foundation) (Founder of I-REC) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 2020 ภายใต้ The I-REC Code for Electricity หรือ I-REC(E) โดยเป็นผู้ดำเนินการขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
“บทบาทหน้าที่หลักของ Local Issuer จะดำเนินการตั้งแต่การรับเปิดบัญชี เพื่อขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนบนผ่านระบบ Registry ของมาตรฐาน I-TRACK จนกระทั่งตรวจสอบและให้การรับรอง REC ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ขอการรับรอง ในกระบวนการดำเนินงานเพื่อขอออกใบรับรอง REC นั้น มีรายละเอียดที่ต้องตรวจสอบให้รอบคอบ ทั้งในเชิงเทคนิคที่จะต้องตรวจสอบเพื่อรับรองว่า REC นี้ ผลิตได้จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ตั้งอยู่ที่ไหน โครงการใด ประเภทเชื้อเพลิงอะไร และช่วงเวลาใด เป็นต้น รวมถึงตรวจสอบรายละเอียดในเชิงของกระบวนการทางสัญญา และรวมไปถึงการตรวจสอบเรื่อง Double counting เพื่อป้องกันการใช้สิทธิหรือให้การรับรองซ้ำกับมาตรฐานอื่น ๆ อีกด้วย
สำหรับผู้ลงทุนพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในธุรกิจ REC นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยมีหน่วยการซื้อขายคือ REC ซึ่งคำนวณจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจริง (ปริมาณพลังงานไฟฟ้า 1 MWh มีค่าเท่ากับ 1 REC) ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อตอบสนองแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม”
ขั้นตอนการดำเนินการ
การขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และการขอใบรับรอง REC ผ่าน Issuer หรือ กฟผ. นั้น ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ประกอบกับมีระบบที่โปร่งใสและเป็นธรรม โดยฝั่งผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือผู้ขาย REC จะต้องเปิดบัญชี Registrant Account เพื่อขอขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยการส่งเอกสารตามที่กำหนดเพื่อให้ Issuer ตรวจสอบ และเมื่อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วจึงจะสามารถทำการขอการรับรอง REC ได้ต่อไป และสำหรับกระบวนการซื้อขาย REC นั้น “บุคคลที่ประสงค์จะซื้อ REC จะสามารถแจ้งความต้องการซื้อไปที่ผู้ขาย REC ได้เลย จากนั้น ผู้ขาย REC จะทำการสรรหาหรือขอการรับรอง REC จาก กฟผ. โดยผู้ขายจะนำ REC ที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจาก กฟผ. แล้วไปส่งมอบให้กับผู้ซื้อ ผ่านระบบ Registry ของมาตรฐาน I-TRACK และผู้ซื้อ REC ก็สามารถชำระค่าซื้อ REC ให้กับผู้ขาย REC ได้เลยโดยตรง
สำหรับการซื้อขาย REC นั้น กำหนดให้มีผู้เกี่ยวข้องหลัก 3 ส่วน ได้แก่
- ผู้ซื้อ REC ส่วนมากมักจะเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินกิจการ หรือ Broker ที่เป็นผู้รวบรวม REC ไปขายให้กับผู้ที่สนใจ โดยจะต้องทำการเปิดบัญชี Participant Account กับ I-TRACK
- ผู้ขาย REC คือกลุ่มผู้ที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือ Broker ที่ได้รับสิทธิ์ให้ขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแทนเจ้าของโรงไฟฟ้า โดยจะต้องทำการเปิดบัญชี Registrant Account และได้ขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าไว้กับ I-TRACK แล้ว
- ผู้ให้การรับรอง REC คือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของมาตรฐาน ให้เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ และให้การรับรอง REC ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยในประเทศไทย มี กฟผ. เป็นผู้ให้การรับรองตามมาตรฐาน I-TRACK
เติบโตแบบก้าวกระโดด
หลังจากที่ กฟผ. ได้ให้ความสำคัญและดำเนินการเรื่อง REC มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การซื้อขาย REC มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และทำให้ กฟผ. กลายเป็นผู้นำการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน
“นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ กฟผ. เริ่มพัฒนาโครงการ REC และให้บริการงานรับรอง REC ตามมาตรฐาน I-TRACK ทำให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดการซื้อขาย REC ซึ่งโตขึ้นมากกว่า 10 เท่า สร้างเงินหมุนเวียนในตลาดมากกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งของความสำเร็จเป็นเพราะทุกคนเริ่มตระหนักถึงการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ประกอบกับเราสามารถสนับสนุนความต้องการในประเทศได้ทันท่วงที ที่สำคัญคือ กฟผ. มีความคิดว่า Think Globally, Act Locally หมายความว่า เราคิดแบบมาตรฐานสากลแต่เราเอามาดำเนินการในประเทศของเรา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการจริง ๆ ก็เลยทำให้ตลาดโตสูงมาก ซึ่งนอกจากจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งเสริมการสร้างงาน และความตระหนักในการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศ (Renewable Energy Awareness) รวมทั้งการให้ความรู้ และเกิดความร่วมมือของเครือข่ายด้านพลังงานหมุนเวียนจากทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างมากมายในปัจจุบัน”
ความท้าทายสำคัญ
เนื่องจากในปัจจุบัน REC กำลังได้รับความสนใจจากองค์กรต่าง ๆ เป็นอย่างมาก จึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการบริหารจัดการ ในฐานะที่ กฟผ. เป็นผู้นำในการพัฒนาตลาด REC และผู้รับรอง REC (Issuer) ในประเทศไทย
“กฟผ. ได้รับการติดต่อจากผู้ที่สนใจเกี่ยวกับ REC เข้ามามากมาย ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการ ทั้งยังต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับตลาด และพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ทันต่อความต้องการของตลาดที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยการพัฒนา EGAT Issuer Platform ขึ้นมา มุ่งหวังเพื่อพัฒนาให้เป็น One Stop Service อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ และเป็นการยกระดับการให้บริการของ กฟผ. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับการเติบโตของตลาดได้อย่างทันการณ์ นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้พัฒนาเว็บไซต์ EGAT Issuer เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประชาสัมพันธ์เรื่อง REC และการติดต่อสื่อสารระหว่าง EGAT กับผู้ที่สนใจ โดยผู้ที่สนใจสามารถค้นหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ REC ตลอดจนเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการรับบริการ และดาวน์โหลดเอกสารที่จำเป็นได้ทั้งหมดในที่เดียว ได้ที่ https://irecissuer.egat.co.th/”
จุดแข็งดึงดูดนักลงทุน
REC นอกจากจะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์แล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทยอีกด้วย
“จริง ๆ แล้วการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งภาคพลังงานเองก็มีส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การนำกลไก REC ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศมากยิ่งขึ้น จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานได้ทั้งในระดับองค์กร ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ การประยุกต์ใช้กลไก REC ควบคู่ไปกับการสนับสนุนของภาครัฐและภาคนโยบาย เช่น โครงการ Utility Green Tariff หรือ อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกพร้อม REC ซึ่งเป็นโครงการของภาครัฐที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายการใช้ไฟฟ้าสีเขียว และเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ได้ตั้งไว้ รวมทั้งนโยบายดังกล่าวจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทยในระยะยาว และที่สำคัญจะเป็นกรอบแนวทางไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน”
พลังงานสะอาด ถือเป็นเมกาเทรนด์ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจการลงทุนในอนาคตอันใกล้ กฟผ. จึงพร้อมผลักดันนโยบายส่งเสริมและพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ ในทิศทางที่จะช่วยให้เกิดแรงกระตุ้นและการตื่นตัวของธุรกิจพลังงานสีเขียว เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้หมุนต่อไปได้อย่างยั่งยืน